top of page

ภาพบรรยากาศงาน "คนดีรักษ์โลก"
วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567  ณ ห้องประชุม B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา


Photos from event "Khon Dee Rak Lok: Good People Preserve the World"
Tuesday 13 February 2024 at the Parliament of Thailand


ชมวีดีโอถ่ายทอดวันงาน คลิกที่นี่

ที่มาของโครงการ

ปรากฏการณ์ "การคืนดีกับโลก"

        ราวกลางปี 2549 หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “An Inconvenient Truth” (แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ สำนักพิมพ์มติชน) ปลุกกระแสให้สังคมโลกหันมาสนใจ และร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการชี้ให้เห็นถึงสภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งแปรเปลี่ยนด้วยน้ำมือมนุษย์เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงให้ใช้ชีวิตที่เหลือเร่งเรียนรู้ และรักษาโลกใบนี้เอาไว้...เพื่อลูกหลานของเรา

       ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นคนดังระดับโลก เขาคือ “อัล กอร์” นักการเมืองผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเกือบจะได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จุดเด่นของอัล กอร์ คือความใส่ใจของเขาต่อสภาพแวดล้อม การยอมรับว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติ และสุดท้ายคือ ความเชื่อว่าพวกเราทุกคนสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้

       ในหนังสือ “An Inconvenient Truth” อัล กอร์ ซึ่งเป็นนักการเมืองได้ต่อสู้อย่างทรหด ด้วยวิถีทางการเมือง เพื่อผลักดันให้ประชาคมโลกได้ร่วมกันร่างสนธิสัญญา อันมีเป้าหมายเพื่อควบคุมมลพิษที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งต่อมามีการออกนโยบาย และกฏหมายในหลายประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามพันธกิจในสนธิสัญญา แต่แล้วในที่สุดเมื่อการเมืองเปลี่ยนกฏเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดไว้เดิม ก็เปลี่ยนแปลงได้หมด อัล กอร์ บันทึกไว้ว่า  “...รัฐบาล(ใหม่) ตั้งใจจะสกัดกั้นนโยบายใดๆก็ตามที่มุ่งกำจัดมลพิษอันจะนำไปสู่สภาวะโลกร้อน พวกเขาทำทุกวิถีทางที่จะต้านทาน ลดความเข้มงวด และมองหาโอกาสยกเลิกกฏหมาย และข้อบังคับที่มีอยู่เดิม อันที่จริงพวกเขาล้มเลิกทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน”

       ดังนั้น เราจึงไม่อาจคาดหวังให้ระบบการเมืองเพียงกลไกเดียวเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ด้านนิเวศวิทยา ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาทบทวนแนวทางใหม่โดยหันมาใส่ใจประเด็นจริยธรรม ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อาจจะต้องก้าวข้ามการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ หรือการสัมนาทางการเมือง แต่หันมาใส่ใจว่าเราจะทำอะไรได้บ้างในฐานะมนุษย์ แม้จะเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดเพียงคนเดียวก็ตาม โดยการมองสิ่งต่างๆ ทั้งด้วยหัวใจ และปัญญา สิ่งนี้อาจเป็นความหวังใหม่ที่จะเอาชนะความท้าทายที่อยู่เบื้องหน้าในขณะนี้ ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายทางจริยธรรม ศีลธรรม และจิตวิญญาณ

       ต่อมาในปี 2558 สื่อมวลชนคาทอลิก ได้จัดพิมพ์หนังสือ “พระสมณสาส์น ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า (LAUDATO SI') ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เกี่ยวกับการดูแลรักษาโลก บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน”  (ผู้แปล เซอร์มารีหลุยส์  พรฤกษ์งาม คณะภคินี เซนต์ปอล เดอ ซาร์ตร)

       สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ทรงเตือนว่า โลก : บ้านที่เราใช้ร่วมกันนี้ เป็นเสมือนพี่น้องคนหนึ่ง ซึ่งเราแบ่งปันชีวิตด้วยกัน พระองค์ทรงกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม บริโภคนิยม การพัฒนาที่ไร้ความรับผิดชอบ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวัฒนธรรมทิ้งขว้างพระสมณสาส์นฉบับนี้ปรารถนาให้มีการเสวนาร่วมกันกับทุกศาสนา และยังกล่าวถึงการเสวนากับสาขาวิชาการต่างๆ ด้วย นอกจากนี้พระสมณสาส์นฉบับนี้เรียกร้องให้มีขบวนการตัดสินใจในการดำเนินโครงการใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้คำนึงถึงผลกระทบประเด็นหนึ่ง คือ “ความดีส่วนรวม” เนื่องจากการกระทำใดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอาจเป็นการส่งผลกระทบต่อความดีส่วนรวมทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

       การคำนึงถึงความดีส่วนรวมนี้  เป็นคุณธรรมที่เราสามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยการเลิกที่จะยึดตนเองเป็นที่ตั้ง คือออกจากตนเองไปสู่ผู้อื่น เมื่อมีสิ่งนี้แล้วเราจะยอมรับคุณค่าของสิ่งสร้างอื่นๆ และสนใจที่จะมาปกป้องบางสิ่งเพื่อคนอื่น สิ่งนี้จึงเป็นรากฐานที่ทำให้เราสามารถเอาใจใส่ได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม การปลูกฝังคุณธรรมที่เข้มแข็งนี้เท่านั้น จึงจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นการอุทิศตนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และเมื่อสังคมส่วนหนึ่งเริ่มยอมรับและมีการปฏิบัติต่อเนื่องจนเป็น “วัฒนธรรมรักษ์โลก” สังคมจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสร้าง นั่นคือปรากฏการณ์  “การคืนดีกับโลก”

วัตถุประสงค์โครงการ

1. เพื่อเผยแพร่พระสมณสาส์นสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เกี่ยวกับการดูแลรักษาโลก บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน

2. เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ให้สังคมหันมาสนใจ และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการเสวนาเพื่อหาข้อเสนอและการปฏิบัติที่เราเข้ามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

3. เพื่อเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ในสังคมก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมีเอกภาพ ด้วย
พันธกิจ "วันดูแลโลก: บ้านส่วนรวมของเรา"

                            **************************************
 

โปรดติดตามข่าวประชาสัมพันธ์การประกวดครั้งต่อไปได้จากทางเว็บไซต์นี้

ทางคณะผู้จัดฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดประกวดโครงการเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นในการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการ "รักษ์โลก" อย่างต่อเนื่องนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาโลก "บ้านที่เรารัก" ใบนี้ของเราสืบไป

Butterfly
WIne Turbines
Trees

โลก...บ้านที่เราใช้ร่วมกันนี้เป็นเสมือนพี่น้องคนหนึ่ง ซึ่งเราแบ่งปันชีวิตด้วยกัน

- Pope Francis

ความดีส่วนรวม...การกระทำใดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอาจเป็นการส่งผลกระทบต่อความดีส่วนรวมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

-Pope Francis

วัฒนธรรมรักษ์โลก...สังคมจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสร้าง นั่นคือปรากฏการณ์  “การคืนดีกับโลก”

-Pope Francis

bottom of page